Share This Article
ทีเส็บจัดงาน CVTEC MICE BUSINESS ROADSHOW เชิญผู้ประกอบการไมซ์กัมพูชา–เวียดนาม สัมผัสประสบการณ์เส้นทางสาย Wellness ภาคตะวันออก
ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังเป็นเทรนด์เติบโตในอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลก ตามรายงานของ The Global Wellness Trends Report และล่าสุดจากข้อมูลของ Melbourne Convention Bureau ระบุว่า “Delegates คาดหวังให้ผู้จัดงานไมซ์ จัดกิจกรรมที่มีความเป็น Wellness ผสมผสานร่วมอยู่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. หน่วยงานของรัฐที่มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและการแสดงสินค้าภายในประเทศไทย หรือเรียกว่าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ได้นำเทรนด์สุขภาพมาออกแบบเป็นโปรแกรมบนเส้นทางไมซ์ เพื่อตอบโจทย์นักธุรกิจไมซ์ในยุคนี้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ สุขภาพ ที่กำลังเป็นเทรนด์เติบโตในอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลก โดยได้เลือกเส้นทางไมซ์ภาคตะวันออกหรือเส้นทางระเบียงชายฝั่งทะเล CVTEC เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางไมซ์สายสุขภาพ ด้วยการเพิ่มสินค้าและบริการสุขภาพในพื้นที่ ผสมผสานเข้ากับกิจกรรมของไมซ์ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและช่วยเสริมประสิทธิภาพการประชุม ลดความเหนื่อยล้า เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมประชุม (Delegate) ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายไมซ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของไทยเป็น 1 ใน Wellness MICE Destination Route ของภูมิภาคเอเชีย
ล่าสุด ทีเส็บ จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม CVTEC MICE BUSINESS ROADSHOW2023 ขึ้น โดยเชิญ Potential Buyer จากกัมพูชาและเวียดนามที่ทำตลาดไมซ์บนเส้นทาง CVTEC ร่วมสัมผัสประสบการณ์ไมซ์สาย wellness ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี รวมถึงร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายและเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ภาคตะวันออกภายในงาน Pattaya Travel Mart 2023 เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เชื่อมโยงเครือข่าย อันนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดสู่เส้นทางไมซ์สาย Wellness เพิ่มเติมในอนาคตร่วมกันต่อไป
ด้าน ดร. ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สสปน. หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า “สำหรับการจัดกิจกรรม CVTEC MICE BUSINESS ROADSHOW 2023 ในครั้งนี้ ทีเส็บได้เรียนเชิญ Potential Buyer จากกัมพูชาและเวียดนามที่ทำตลาดไมซ์บนเส้นทางระเบียงชายฝั่งทะเล 3 ประเทศหรือ CVTEC กว่า 20 ราย ร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายและเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ภาคตะวันออก ภายในงาน Pattaya Travel Mart 2023 ซึ่งเป็นงานเจรจาจับคู่ทางธุรกิจของเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวและไมซ์ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยงานดังกล่าว มีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและไมซ์เข้าร่วมงานในฐานะผู้ขายกว่า 100 หน่วยงาน บริษัทนำเที่ยวประเภท Inbound และ Domestic เข้าร่วมงานในฐานะผู้ซื้อกว่า 150 หน่วยงาน นับเป็นงานเจรจาธุรกิจที่ได้รับความสนใจสูงสุดในภาคตะวันออก โดยทีเส็บเล็งเห็นถึงศักยภาพของงาน ด้วยการสนับสนุนการเชิญกลุ่ม Buyer ต่างประเทศจากประเทศ CLMV เข้าร่วมการจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้เป็นปีที่ 2 เพื่อยกระดับงานสู่การเป็นงานระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าการเชิญกลุ่ม Buyer จากต่างประเทศเข้าร่วมในครั้งนี้ จะเกิดมูลค่าการจับคู่ทางการค้าหลังงานไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังได้เชิญผู้ประกอบการกัมพูชาและเวียดนาม ร่วมสัมผัสประสบการณ์การบริการด้านสุขภาพในพื้นที่เมืองพัทยา อาทิ โซน wellness ของสวนนงนุช YUNOMORI Onsen & Spa Pattaya และ Health land Spa ด้วย
ด้าน คุณวิยดา ซวง ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมระดับภูมิภาคของจังหวัดที่มีความร่วมมือในการยกระดับพัฒนาเส้นทางแนวชายฝั่งทะเลตอนใต้ หรือ R-10 ของ ประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม (Southern Coastal Economic of Corridor) หรือเส้นทาง CVTEC อันประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ของไทย จังหวัดเกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-แกป ของกัมพูชา และจังหวัดเกียนยาง-กาเมา ของเวียดนาม ภายใต้การผลักดันของทีเส็บ ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศ มองเห็นโอกาสและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้า การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ในเส้นทางนี้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสถานบริการ โรงแรมและธุรกิจการท่องเที่ยวได้เปิดตัวบนเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ GDP ในเส้นทางดังกล่าว ขยับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ในส่วนของการสนับสนุนเส้นทางท่องเที่ยวสายสุขภาพบนเส้นทาง CVTEC นั้น เนื่องจากนักธุรกิจและนักเดินทางเวียดนามโดยเฉพาะกัมพูชา มีความเชื่อมั่นในศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว การที่ทีเส็บเข้ามาเสริมการยกระดับเส้นทางท่องเที่ยวและไมซ์สายบนเส้นทาง CVTEC ของประเทศไทยสู่การเป็น Wellness Corridor นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีมากๆ และตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางกัมพูชาและเวียดนามเป็นอย่างยิ่ง
ด้าน Mrs. Nguyen Thi Thanh Nhan (เหงียน ไท ไถ่ หงัน) ตัวแทนผู้ประกอบการ Outbound รายใหญ่ ของเวียดนาม กล่าวว่า“การเดินทางมาร่วมงาน CVTEC ROADSHOW ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการเวียดนาม จะได้นำเสนอความต้องการ และเสนอแนะแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนักท่องเที่ยวและไมซ์กัมพูชาในเมืองพัทยา ทางกัมพูชาและผู้ประกอบการเวียดนามเอง ได้ขานรับและมองเห็นโอกาสศักยภาพในพื้นที่ของเส้นทาง CVTEC ที่สามารถทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้หลากหลาย เพราะเป็นเส้นทางที่สวยงาม เลียบชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะที่ดังระดับโลก พร้อมทั้งมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ในการทำทัวร์ท่องเที่ยวและไมซ์เชื่อมโยง ภายใต้คอนเซปต์วันเดียวเที่ยว 3 ประเทศ และทำให้การเดินทางแบบคาราวาน เป็นเทรนด์ที่ขายดีและได้รับความสนใจการนักเดินทางอย่างมาก“
ด้าน Mr. ทวน ซินัน ประธาน PATA Cambodia กล่าวว่า “หลังจากการระบาดของ COVID -19 ทำให้นักท่องเที่ยวและนักเดินทางไมซ์ รวมถึงผู้ประกอบการตระหนักถึงเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้แพ็คเกจ Health and Wellness ได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มเอเจนซี่ที่เดินทางมา และมองว่าประเทศไทยมีความพร้อมและครบครันในด้านสถานบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ สถานพยาบาล สปา และสถานเสริมความงาม ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดท่องเที่ยวของเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ในส่วนของภาคตะวันออกที่มีชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะที่สวยงามแล้ว ยังมีอาหารและผลไม้ที่เป็นที่ชื่นชอบของตลาดเพื่อนบ้านอีกเช่นกัน”
โครงการ CVTEC (Cambodia Vietnam Thailand Economic Corridor) เป็นโครงการเกิดจากความร่วมมือผลักดันร่วมกันของภาคเอกชน อันประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เป็นหน่วยงานภาครัฐหลักในการสนับสนุนผลักดัน เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกิดการนำกลไกการท่องเที่ยวและไมซ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการค้าการลงุทนและธุรกิจบนเส้นทางระเบียงชายฝั่งทะเล 3 ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ของไทย จังหวัดเกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-แกป ของกัมพูชา และจังหวัดเกียนยาง-กาเมา ของเวียดนาม เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ และแหล่งเป็นท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 จังหวัดของประเทศไทย ถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากที่สุด ในขณะที่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามมีอัตรา GDP ในปี 2562 อยู่ในระดับสูง (ประมาณร้อยละ 7) ซึ่งแต่ละจังหวัดบนพื้นที่เชื่อมโยง ล้วนแต่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นเส้นทางที่มีแหล่งท่องเที่ยวสําคัญจำนวนมาก สามารถเชื่อมโยงกับการเดินทางไปมาระหว่างกันได้อย่างสะดวกทั้งทางรถและทางเรือ นอกจากการมีจุดขายของสินค้าและบริการที่แข็งแกร่งในพื้นที่แล้ว พื้นที่เชื่อมโยงดังกล่าว ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมในการรองรับการเดินทางไมซ์ไม่ว่าจะเป็น ที่พัก สถานที่จัดประชุมสัมมนาที่ได้มาตรฐาน รวมถึงเครือข่ายธุรกิจในท้องถิ่นที่แข็งแรง ทำให้เส้นทางดังกล่าว ถือเป็นเส้นทางแห่งโอกาสและเส้นทางไมซ์ใหม่แห่งอนาคต ในการทำตลาดไมซ์เพื่อรองรับนักเดินทางและนักธุรกิจไมซ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบ 1 Marketing 3 Destination