Share This Article
‘กรมเจรจาฯ’ นำผู้ประกอบการสินค้า BCG จับคู่ธุรกิจออนไลน์กับคู่ค้า FTA คาดยอดสั่งซื้อกว่า 55 ล้านบาท
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำผู้ประกอบการกลุ่มสินค้า BCG ทั้งอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม และสินค้าไลฟ์สไตล์ 20 ราย หลังผ่านการคัดเลือกจากโครงการเทพ ปี 2 ลงสนามจับคู่ธุรกิจออนไลน์กับคู่ค้าที่ไทยมี FTA ด้วย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ พร้อมจับเข่าคุยโมเดิร์นเทรดชั้นนำ อาทิ Top Supermarket TV Direct และ Alibaba คาดจะมียอดสั่งซื้อสินค้ากว่า 55ล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching: OBM) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า กรมได้นำผู้ประกอบการกลุ่มสินค้า BCG ทั้งอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม และสินค้าไลฟ์สไตล์ 20 ราย ที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ “ส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการไทย เร่งต่อยอดใช้ประโยชน์ FTA (Thai Entrepreneur Program for FTA Market: ThEP for FTA Market)” ปีที่ 2 หรือโครงการเทพ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นำผู้นำเข้าจากประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมกิจกรรม OBM พร้อมทั้งได้เชิญผู้แทนจากห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำ อาทิ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด Top Supermarket TV Direct Big C และ Alibaba เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการอีกด้วย
“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจกว่า 50 คู่ โดยมีกลุ่มสินค้าที่จะได้รับความสนใจ และเกิดมูลค่าทางธุรกิจ อาทิ กล้วยป๊อบ ขิงแปรรูป น้ำหวานดอกมะพร้าวสควิซ น้ำมันมะพร้าว ผลไม้แช่เยือกแข็ง ผักแผ่นอบกรอบ ว่านหางจระเข้อบแห้ง ซอสมะม่วง สมุนไพรกระตุ้นน้ำนม กาแฟคั่ว และเครื่องดื่มผสมกระชาย โดยคาดว่ามูลค่าการสั่งซื้อสินค้ากว่า 55 ล้านบาท” นางอรมน เสริม
นางอรมน เพิ่มเติมว่า โครงการ ThEP for FTA Market ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 สืบเนื่องจากเรื่อง BCG ซึ่งกำลังเป็นเมกกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ จึงได้ดำเนินโครงการเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้า BCG ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างชัดเจน เน้นการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งพัฒนาศักยภาพการผลิตต่อยอดผลิตภัณฑ์ เรียนรู้ช่องทางการตลาด ปรับตัวตามกระแสนิยมของตลาดโลก และใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดการค้าเสรี ซึ่งประเทศคู่ค้าได้ยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าส่วนใหญ่จากไทยแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.–มิ.ย. 2566) ไทยส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 8,232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4% จากปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และน้ำผลไม้ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้