Share This Article
บริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด จัดแข่งขันหุ่นยนต์ขนส่งแบบอัตโนมัติชิงแชมป์ “JINPAO AUTOMATION CONTEST 2023” ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมี ท่านสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ให้การต้อนรับ และนายจง กั๋ว โซง ประธานบริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด
เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมการแข่งขันด้านเทคโนโลยี 4.0 เพื่อพัฒนานักศึกษาที่ผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้และแสดงผลงานการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อนำไปสู่การคิดแก้ไขปัญหาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตอบสนองกับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการทรัพยากร รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทย
นายจง กั๋ว โซง ประธานบริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์ขนส่งแบบอัตโนมัติชิงแชมป์ “JINPAO AUTOMATION CONTEST 2023” จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ระดับอุดมศึกษาอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษา โดยในปีนี้มาในแนวคิด“Transportation/Logistic/Storage” ซึ่งนำรูปแบบการขนส่งงานในสายการผลิตในโรงงาน เป็นการขนส่งที่เป็นระบบอัตโนมัติในการนำสินค้าไปส่ง และการเรียกใช้งาน โดยแบ่งภารกิจเป็นสถานี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งรูปแบบการแข่งขัน มีการแบ่งเป็น 2 ทีม คือทีมสีเขียวและทีมสีน้ำเงิน แบ่งเวลาในการแข่งขันไม่เกิน 3 นาที ในแต่ละทีมจะมีหุ่นยนต์ขนส่งอัตโนมัติอยู่ 1 คัน คือหุ่นยนต์ขนส่งแบบอัตโนมัติที่เรียกว่า “JP” ซึ่งในแต่ละทีมจะต้องทำภารกิจให้สำเร็จก่อนหุ่นยนต์ขนส่งแบบอัตโนมัติคู่ต่อสู้ หรือทำคะแนนให้ได้มากที่สุดภายใน 3 นาที รูปแบบกติกาการแข่งขันภารกิจจะขึ้นอยู่กับทางผู้จัดการแข่งขันเท่านั้น
สำหรับผลการแข่งขัน ทีมผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม iRAP Armstrong มหาวิทยาลัยโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ,รองชนะเลิศอันดับ 1. ได้แก่ ทีม E.TECH Jinpao Robotics1 วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก ,รองชนะเลิศอันดับ 2. ได้แก่ ทีม Xiaolonbao สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ส่วนรางวัลชมเชย มี 3 ทีม ได้แก่ ทีม Brainstorm มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ,ทีม Sakolraj Robot โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล และทีม ไหนอ่ะ (NAIA) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รางวัลออกแบบยอดเยี่ยม ได้แก่ทีม ลูกเจ้าแม่คลองประปา TheArtronAcademy มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ได้แก่ทีม REAI CMU : Malaew II มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นายจง กั๋ว โซง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาวงการอุตสาหกรรมไทย ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มีเวทีโชว์ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่รองรับภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถด้วยนวัตกรรมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สำคัญของอาเซียน โดยมุ่งเน้นการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อีกด้วย