Share This Article
ทีเส็บ จัดงาน MICE Standards Day 2024
ยกระดับความมั่นใจในมาตรฐานธุรกิจไมซ์อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันภาครัฐต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกิจกรรมไมซ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างแบรนด์สินค้า พัฒนาเศรษฐกิจจากการจัดงานให้มีการกระจายการจัดงานให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในภูมิภาคทำให้เกิดความต้องการจัดงานต่าง ๆ จากภาคเอกชน องค์กร สมาคมและภาครัฐ
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ได้รับการก่อตั้งด้วยภารกิจใช้อุตสาหกรรมไมซ์ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการกระตุ้นให้มีการจัดงานในประเทศและแข่งขันดึงงานจากต่างประเทศให้มาจัดในประเทศไทย หนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันคือการพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ หรือ MICE Venue Standards เพื่อใช้รับรองสถานที่จัดงานที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยได้ตั้งเป้าหมายให้การขับเคลื่อนมาตรฐานสถานที่จัดงานเป็นหนึ่งในกลไกทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย
สถานที่จัดงานประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ประเภทประกอบด้วย
•มาตรฐานสถานที่จัดงาน ประเภทห้องประชุม (Meeting Rooms)
•มาตรฐานสถานที่จัดงาน ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า (Exhibition Venues)
•มาตรฐานสถานที่จัดงาน ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venues)
โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ได้การส่งเสริมมาตรฐานห้องประชุมประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มศูนย์ประชุม 2. กลุ่มโรงแรมหรือรีสอร์ท และ 3. กลุ่มหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นอกจากการได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์จากสสปน. แล้วนั้น สสปน. ยังได้ดำเนินการจัดทำ Thailand & ASEAN MICE Venue Standards Directory ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมรายชื่อของสถานประกอบการไมซ์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์การันตีมาตรฐานของสถานที่จัดงานไมซ์ในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองทั้งสองมาตรฐานฯโดยหนังสือ Directory นี้สสปน. ได้มอบให้แก่สมาคมผู้ประกอบการด้านไมซ์ อาทิ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) สมาคมส่งเสริมการแสดงสินค้าไทย สมาคมโรงแรมแรมไทยสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงานเป็นต้น ตลอดจนเผยแพร่หนังสือนี้ผ่านทางช่องทางการสื่อสารและการตลาดเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สถานประกอบการไมซ์แก่กลุ่มเป้าหมายทางการตลาด สร้างให้เกิดการตระหนักรู้ ตลอดจนเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบการไมซ์
ผลการดำเนินงานรับรองสถานประกอบการ ในปี 2557-2566 มีสถานที่จัดงานที่ผ่านการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทยประเภทห้องประชุม 317 แห่ง 1,152 ห้อง ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้าจำนวน๑๘ แห่ง๒๙ฮอลล์และสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษจำนวน 67 แห่ง 72 พื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
ดร.อรรชกา ศรีบุญเรือง ประธานกรรมการ สสปน. กล่าวว่า “ทีเส็บ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนามาตรฐาน ไม่เพียงแต่มาตรฐานสถานที่การจัดงาน มาตรฐานด้านการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน และมาตรฐานอาชีพของบุคลากรไมซ์ ทั้ง 3 มาตรฐานคือสิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนไมซ์ไทย สู่การเป็น MICE Destination สามารถยกระดับการบริการอย่างมืออาชีพให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมั่นใจ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย”
ด้วยนโยบายของรัฐบาล มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์คุณภาพ (High Value Added MICE Destination) โดยใช้ “ต้นทุน” ทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ หรือ Soft Power เป็นตัวสร้างมูลค่า มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมไมซ์ระดับโลก เพื่อเพิ่มรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมสร้างพันธมิตรและสร้างโอกาสทางธุรกิจ การขับเคลื่อนผลักดันนโยบายดังกล่าว เชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถได้ต้อนรับนักเดินทางไมซ์ จะกลับมาที่ระดับ 75% ของปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) โดยคาดว่าจะมีนักเดินทางไมซ์ รวม 23.2 ล้านคน สร้างรายได้ 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีงบประมาณ 2566 ภายในปี 2567 นี้
ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมและเข้าใจเทรนด์ของโลกเพื่อรองรับความต้องการของนักเดินทางไมซ์ที่มองหา Destination ที่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมสำหรับเทรนด์ใหม่ อาทิ
– Slow Route การเดินทางท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม
– Personalization ออกแบบกิจกรรมไมซ์ แบบรู้ใจผู้เข้าร่วมงาน
– Virtual Experience เติมเต็มประสบการณ์ดิจิทัลบนโลกเสมือนที่สมจริงให้กับนักเดินทางไมซ์ด้วยดิจิทัล
– Ambient Wellness พัฒนากิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมงานไมซ์มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
– Sustainability on Display อุตสาหกรรมไมซ์ขับเคลื่อนการจัดงานอย่างยั่งยืน
– Synced Services เชื่อมโยงกิจกรรมไมซ์แบบไร้รอยต่อด้วยเทคโนโลยี
– Community Care กลไกสำคัญในการส่งเสริมและกระจายรายได้ให้กับชุมชน
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปี 2567 ของทีเส็บยึดโยงการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่ออยู่รอดและเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขัน
ดังนั้น ทีเส็บได้กำหนดแนวทางในอนาคตพุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง (High Value-Added Destination) และสร้างกลยุทธ์ใหม่ โดยผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการใช้นวัตกรรม/ความคิดสร้างสรรค์และกระชับการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน
แนวทางนี้จะสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นและคุณค่าให้แก่กิจกรรมไมซ์ที่จัดในประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่าในอีกสิบปีข้างหน้า ภาพลักษณ์ไมซ์ไทยจะชัดเจนในฐานะแหล่งประชุมที่มีคุณค่าสูง เพิ่มบทบาทไทยในการกระตุ้นไมซ์ทั่วเอเซีย เป็น Springboard of ASIA’s Growth” ภาคธุรกิจมีความก้าวหน้า มั่นคง”
ภายในงาน MICE Standards Day 2024 มีพิธีมอบตราสัญลักษณ์ มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS) มาตรฐานสถานที่จัดงานอาเซียน (AMVS) ใบรับรอง มาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย (TSEMS) และกิจกรรมความร่วมมือร่วมกับพันธมิตรอุตสาหกรรมไมซ์ ได้แก่ กิจกรรมคู่มือแนวปฏิบัติการจัดประชุมและงานนิทรรศการที่เป็นมิตรต่อมุสลิม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมความร่วมมือโครงการการจัดการขยะจากงานไมซ์ กิจกรรม Farm to Functions Plus และกิจกรรมให้องค์ความรู้ด้านมาตรฐาน ภายใต้หัวข้อ “เข้าใจตลาด ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยมาตรฐานไมซ์และการท่องเที่ยว”
โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผู้บริหารสถานประกอบการ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (ประเภทห้องประชุม สถานที่จัดงานแสดงสินค้า และสถานจัดกิจกรรมพิเศษ ) ผู้บริหารสถานประกอบการ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานอาเซียน (ประเภทห้องประชุม และ สถานที่จัดงานแสดงสินค้า) ผู้บริหารสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่าง ยั่งยืนประเทศไทย ผู้ประกอบการด้านการให้บริการ และการใช้บริการ สถานที่ จัดงาน บุคคลทั่วไป อาทิเช่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
โดย MICE Standards Day 2024 ปีนี้ มีองค์กรและหน่วยงานที่เข้ารับตราสัญลักษณ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมไมซ์ รวมทั้งสิ้น 226 หน่วยงาน ซึ่งเป็นทั้งการต่ออายุตราสัญลักษณ์และการมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานแก่ผู้ประกอบการใหม่ ผู้รับตรามาตรฐานดังกล่าวอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงไมซ์ซิตี้ทั้ง 10 จังหวัด การจัดงานในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความตระหนักในวงกว้างเกี่ยวกับความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ต่อพัฒนาการของประเทศ ตลอดจนศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ดีในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นชาติ “ผู้นำไมซ์ของโลก” ได้ในที่สุดต่อไป