Share This Article
สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน “Policy Innovation Recognition” ซึ่งเป็นเวทีเชิดชูเกียรติบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบาย ที่สามารถแก้ไข ปัญหาและพัฒนาการดำเนินงานทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ
โดยภายในงานจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “แนวทางการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และนางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ Thai PBS โดยภายในงานมีผู้บริหารระดับสูง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาเข้าร่วมงาน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางในการสร้างสรรค์นโยบายเชิงนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “เนื่องจากประเทศไทย เผชิญกับปัญหาที่มีความซับซ้อนหลายด้าน เช่น การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ความยากจน การเปลี่ยนแปลง ทางสังคมและเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นการออกแบบหรือพัฒนา นวัตกรรมเชิงนโยบาย จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน NIA จึงได้ริเริ่มและจัดอบรมหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน (Public and Private Chief Innovation Leadership) หรือ PPCIL มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยมุ่งเน้นสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเน้นย้ำความสำคัญของหลักคิดเชิงกระบวนการของการพัฒนาออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติ”
“ทั้งนี้ ความสำคัญของการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายในการจัดการปัญหาที่ซับซ้อนของประเทศไทย ต้องใช้ทักษะที่หลากหลายนอกเหนือจากองค์ความรู้ และเครื่องมือต่าง ๆ ยังจะต้องอาศัย หลักคิดที่สร้างสรรค์ ค้นหาแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหา กระตุ้นให้เกิดแนวคิดและวิธีการใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคม สร้างระบบคิดแบบบูรณาการ เศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี อีกทั้งยังต้องอาศัย
ความยืดหยุ่นและการปรับตัว ตามสถานการณ์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตเพื่อหาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัญหา และยังต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหาที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบในระยะยาว รวมถึงการมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพด้วย”
“การจัดงาน ‘Policy Innovation Recognition’ ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการ PPCIL ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายและการบริหารจัดการระดับประเทศซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้รวมทั้งสิ้น 477 คน ครอบคลุม 5 ภาคส่วนหลักของประเทศ ได้แก่ ภาครัฐภาคเอกชน ภาคการเมือง ภาคความมั่นคง ภาคสื่อและประชาสังคม โดยงานวันนี้ไม่เพียงแต่เป็นการยกย่องความสำเร็จของผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบาย แต่ยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายทั้งระดับองค์กร สังคม และประเทศได้อย่างแท้จริง” ดร. กริชผกา กล่าว
ดร.กริชผกา กล่าวอีกว่า เวที Policy Innovation Recognition ที่จัดขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกย่องบุคคลที่ผ่านการอบรมหลักสูตร PPCIL แล้วนำเอาองค์ความรู้ ความสามารถทางนวัตกรรมไปใช้ในการสร้างออกแบบและขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบายที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาสังคมทั้งระดับองค์กรและประเทศ รวมถึงช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการขยายผลการพัฒนา นวัตกรรมเชิงนโยบาย
ไปสู่การปฏิบัติได้จริงในวงกว้าง ซึ่งภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “แนวทางการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงาน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้แนวคิดนวัตกรรมเชิงนโยบายในการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ มีความท้าทายในบริบทของประเทศไทย โดยการเสวนามุ่งเน้นนำเสนอแนวทาง การออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการคาดการณ์ การป้องกัน และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเสวนาพิเศษและพิธีมอบรางวัลแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรม “ร่วมบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถนำสิ่งของจำเป็น เช่น น้ำดื่ม อาหารแห้ง ยารักษาโรค และเสื้อผ้ามาบริจาค ณ จุดรับบริจาคภายในงาน ซึ่งสิ่งของทั้งหมดจะถูกจัดส่งไปยังพื้นที่ประสบภัยทันทีหลังจบกิจกรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ การจัดงาน Policy Innovation Recognition ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความพยายามของ NIA ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน NIA มุ่งหวังว่าการจัดงานในวันนี้จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายที่มีคุณภาพและสามารถตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศได้ในระยะยาวต่อไป